Monday, January 8, 2007

การจดทะเบียนพาณิชย์

การจดทะเบียนพาณิชย์ ตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499

ผู้มีหน้าที่จดทะเบียนพาณิชย์
ผู้มีหน้าที่จดทะเบียนพาณิชย์ คือ บุคคลธรรมดาคนเดียว หรือหลายคน (ห้างหุ้นส่วนสามัญ) หรือนิติบุคคล
รวมทั้งนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย ต่างประเทศที่มาตั้งสำนักงานสาขาในประเทศไทย ซึ่งประกอบกิจการ
อันเป็นพาณิชยกิจตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด

กิจการที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศให้ผู้ประกอบกิจการดังต่อไปนี้ ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ คือ
1. ผู้ประกอบกิจการโรงสีข้าวและโรงเลื่อยที่ใช้เครื่องจักร
2. ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าไม่ว่าอย่างใดๆ อย่างเดียวหรือหลายอย่าง คิดรวมทั้งสิ้นในวันหนึ่ง
ขายได้เป็นเงินตั้งแต่ 20 บาท ขึ้นไปหรือมีสินค้าดังกล่าวไว้เพื่อขายมีค่ารวมทั้งสิ้นเป็นเงินตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป
3. นายหน้าหรือตัวแทนค้าต่างซึ่งทำการเกี่ยวกับสินค้าไม่ว่าอย่างใด ๆ อย่างเดียวหรือหลายอย่างก็ตาม
และสินค้านั้นมีค่ารวมทั้งสิ้นในวันหนึ่งวันใดเป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป
4. ผู้ประกอบกิจการหัตถกรรมหรืออุตสาหกรรมไม่ว่าอย่างใด ๆ อย่างเดียวหรือหลายอย่างก็ตาม และ
ขายสินค้าที่ผลิตได้ คิดราคารวมทั้งสิ้นในวันหนึ่งวันใดเป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไปหรือในวันหนึ่งวันใดมี
สินค้าที่ผลิตได้มีราคารวมทั้งสิ้นตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป
5. ผู้ประกอบกิจการขนส่งทางทะเล การขนส่งโดยเรือกลไฟหรือเรือยนต์ประจำทาง การขนส่งโดยรถไฟ
การขนส่งโดยรถราง การขนส่งโดยรถยนต์ประจำทาง การขายทอดตลาด การรับซื้อขายที่ดิน การให้กู้ยืมเงิน การ
รับแลกเปลี่ยน หรือซื้อขายเงินตราต่างประเทศ การซื้อหรือขายตั๋วเงิน การธนาคาร การโพยก๊วน การทำโรงรับ
จำนำ และการทำโรงแรม
6. ขาย ให้เช่า ผลิต หรือรับจ้างผลิต แผ่นซีดี แถบบันทึก วีดิทัศน์ แผ่นวีดิทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่นวีดิทัศน์
ระบบดิจิทัล เฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง
7. ขายอัญมณี หรือเครื่องประดับซึ่งประดับด้วยอัญมณี
8. ซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต บริการ
อินเตอร์เน็ต ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย บริการเป็นตลอดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ
โดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
9. การให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้อินเตอร์เน็ต
10. การให้บริการฟังเพลงและร้องเพลงโดยคาราโอเกะ
11. การให้บริการเครื่องเล่นเกมส์
12. การให้บริการตู้เพลง
13. โรงงานแปรสภาพ แกะสลักและการหัตถกรรมจากงาช้าง การค้าปลีก การค้าส่งงาช้างและผลิตภัณฑ์
จากงาช้าง

พาณิชยกิจที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์
มีพาณิชยกิจบางอย่างที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ คือ
1. การค้าเร่ การค้าแผงลอย
2. พาณิชยกิจเพื่อการบำรุงศาสนาหรือเพื่อการกุศล
3. พาณิชยกิจของนิติบุคคลซึ่งได้มีพระราชบัญญัติ หรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้น
4. พาณิชยกิจของกระทรวง ทบวง กรม
5. พาณิชยกิจของมูลนิธิ สมาคม สหกรณ์
6. พาณิชยกิจซึ่งรัฐมนตรีได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ได้แก่
6.1 บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญ จดทะเบียน ที่เป็นนิติบุคคลตามประมวล
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัท และได้ยื่นแบบแสดงรายการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ
ของห้างหุ้นส่วนบริษัทไว้แล้วต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ยกเว้นบริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วน
สามัญจดทะเบียน ที่ประกอบกิจการต่อไปนี้ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ด้วย
(1) ขาย ให้เช่า ผลิต หรือรับจ้างผลิต แผ่นซีดี แถบบันทึก วีดิทัศน์ แผ่นวีดิทัศน์ ดีวีดี
หรือแผ่นวีดิทัศน์ระบบดิจิทัล เฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง
(2) ขายอัญมณี หรือเครื่องประดับซึ่งประดับด้วยอัญมณี
(3) ซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระเบบเครื่องข่าย
อินเตอร์เน็ต บริการอินเตอร์เน็ตให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย บริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขาย
สินค้าหรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครื่อข่ายอินเตอร์เน็ต
(4) การให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้อินเตอร์เน็ต
(5) การให้บริการฟังเพลงและร้องเพลงโดยคาราโอเกะ
(6) การให้บริการเครื่องเล่นเกมส์
(7) การให้บริการตู้เพลง
(8) โรงงานแปรสภาพ และสลักและการทำหัตถกรรมจากงาช้าง การค้าปลีกการค้าส่ง
งาช้างและผลิตภัณฑ์จากงาช้าง
6.2 พาณิชยกิจของกลุ่มเกษตรกรที่ได้จดทะเบียนตาม ปว.141 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2515

การยื่นจดทะเบียนพาณิชย์ * ท่านสามารถ Download แบบพิมพ์ไปใช้ในการจดทะเบียนได้ หรือขอรับแบบพิมพ์
ได้ที่สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ และสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดทุกแห่ง


การจดทะเบียนตั้งใหม่ มีเอกสารดังนี้

1. คำขอจดทะเบียน : แบบ ทพ. (Print - out 2 แผ่น)
2. หลักฐานประกอบคำขอ
2.1 สำเนาบัตรประจำตัวของผู้ประกอบพาณิชยกิจ หรือ หุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้รับผิดชอบดำเนิน
กิจการในประเทศไทย (กรณีเป็นนิติบุคคลต่างประเทศ) ซึ่งรับรองความถูกต้องโดยเจ้าของบัตรประจำตัว
2.2 หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)
2.3 กรณีเป็นนิติบุคคลต่างประเทศให้ส่งเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้
2.4 สำเนาเอกสารแสดงการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งมีรายการเกี่ยวกับชื่อ วัตถุที่ประสงค์ ทุน
ที่ตั้งสำนักงาน รายชื่อกรรมการ และอำนาจกรรมการ
2.5 หนังสือแต่งตั้งผู้รับผิดชอบดำเนินกิจการในประเทศ
2.6 ใบอนุญาตทำงานของผู้รับผิดชอบดำเนินกิจการในประเทศ (กรณีเป็นบุคคลต่างด้าว)
2.7 ใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว หรือหนังสือรับรองการใช้สิทธิตามสนธิสัญญา (ถ้ามี)
เอกสารตามข้อ 2.4 และข้อ 2.5 หากทำขึ้นในต่างประเทศ จะต้องมีคำรับรองของโนตารีพับลิคหรือบุคคลซึ่ง
กฎหมายของประเทศนั้น ๆ ตั้งให้เป็นผู้มีอำนาจรับรองเอกสาร พร้อมด้วยคำรับรองของเจ้าหน้าที่กงสุลหรือ
สถานฑูตไทย

ในกรณีประกอบพาณิชยกิจการขาย หรือให้เช่า แผ่นซีดี แถบบันทึก วีดิทัศน์ แผ่นวีดิทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่น
วีดิทัศน์ระบบดิจิทัล เฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง ต้องแจ้งข้อมูลและส่งเอกสารประกอบเพิ่มเติม ดังนี้

1. แผนที่แสดงสถานที่ซึ่งใช้ประกอบพาณิชยกิจเป็นปกติ
2. สำเนาหนังสืออนุญาต หรือ หนังสือรับรองให้เป็นผู้จำหน่ายหรือให้เช่าสินค้าดังกล่าวจากเจ้าของ
ลิขสิทธิ์ของสินค้าที่ขายหรือให้เช่า หรือ สำเนาใบเสร็จรับเงินตามประมวลรัษฎากร หรือหลักฐานการซื้อขาย
จากต่างประเทศ

ในกรณีประกอบพาณิชยกิจการค้าอัญมณี หรือเครื่องประดับซึ่งประดับด้วยอัญมณี ต้องดำเนินการและ
ให้ส่งเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้

1. ตรวจสอบและเรียกหลักฐานแสดงจำนวนเงินทุน (กรณีเป็นนิติบุคคลให้ยกเว้น เนื่องจากนาย
ทะเบียน สามารถตรวจสอบหลักฐานแสดงจำนวนเงินทุนของนิติบุคคลได้จากระบบคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว สำหรับ
บุคคลธรรมดา ให้เชิญผู้ประกอบพาณิชยกิจมาให้ข้อเท็จจริงของแหล่งที่มาของเงินทุน หรือชี้แจงเป็นหนังสือพร้อมแนบหลักฐานดังกล่าวแทนก็ได้)

2. หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ประกอบพาณิชยกิจ หลักฐานการประกอบอาชีพหุ้นส่วนจำพวก
ไม่จำกัดความรับผิดหรือกรรมการผู้มีอำนาจของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท แล้วแต่กรณี

กรณีประกอบพาณิชยกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ให้ส่งเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้
1. ผู้ประกอบพาณิชยกิจเป็นนิติบุคคลให้แนบสำเนาบัตรประจำตัวของหุ้นส่วนผู้จัดการ หรือกรรมการ
ผู้มีอำนาจของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท แล้วแต่กรณี
2. รายละเอียดเกี่ยวกับเว็บไซต์ (1 เว็บไซต์ : 1 แผ่น)

ตัวอย่างการจดทะเบียนพาณิชย์ใหม่

การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง มีเอกสารดังนี้
1. คำขอจดทะเบียน : แบบ ทพ. (Print - out 2 แผ่น)
2. หลักฐานประกอบคำขอ
2.1 สำเนาบัตรประจำตัวของผู้ประกอบพาณิชยกิจ หรือหุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้รับผิดชอบดำเนิน
กิจการในประเทศไทย (กรณีเป็นนิติบุคคลต่างประเทศ) ซึ่งรับรองความถูกต้องโดยเจ้าของบัตรประจำตัว
2.2 ใบทะเบียนพาณิชย์ เฉพาะกรณีแก้ไขเพิ่มเติมชื่อตัวหรือชื่อสกุลของผู้ประกอบพาณิชยกิจ
ชื่อที่ใช้ในการประกอบพาณิชยกิจ ชนิดพาณิชยกิจ และ / หรือสำนักงานแห่งใหญ่
2.3 สำเนาหนังสือแต่งตั้งผู้รับผิดชอบดำเนินกิจการในประเทศ กรณีนิติบุคคลต่างประเทศขอ
เปลี่ยนแปลงผู้จัดการสาขาในประเทศ
2.4 สำเนาหนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อตัวและหรือชื่อสกุล (ถ้ามี)
2.5 หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)

รายการที่ต้องยื่นจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง มีดังนี้
1. เลิกชนิดประกอบกิจการ บางส่วน และ/หรือเพิ่มใหม่
2. เปลี่ยนชื่อที่ใช้ในการประกอบกิจการ
3. ย้ายสำนักงานใหญ่
4. เปลี่ยนผู้จัดการ
5. เจ้าของหรือผู้จัดการย้ายที่อยู่
6. เพิ่มหรือลดเงินทุน
7. ย้าย เลิก หรือเพิ่มสาขา โรงเก็บสินค้า หรือตัวแทนค้าต่าง
8. อื่น ๆ เช่น เจ้าของหรือผู้จัดการเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อสกุล
หรือรายการที่จดทะเบียนไว้ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง
หมายเหตุ หากต้องการเปลี่ยนแปลงรายการใด ให้กรอกรายละเอียดเฉพาะรายการที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น

ตัวอย่างการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง

การจดทะเบียนเลิก มีเอกสารดังนี้
1. คำขอจดทะเบียน : แบบ ทพ. (Print - out 2 แผ่น)
2. หลักฐานประกอบคำขอ
2.1 สำเนาบัตรประจำตัวของผู้ประกอบพาณิชยกิจ หรือทายาทที่ยื่นคำขอแทนหรือหุ้นส่วนผู้จัดการ
หรือผู้รับผิดชอบดำเนินการในประเทศไทย (กรณีเป็นนิติบุคคลต่างประเทศ) ซึ่งรับรองความถูกต้องโดยเจ้าของ
บัตรประจำตัว
2.2 ใบทะเบียนพาณิชย์
2.3 หนังสือรับฝากบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชี (ในกรณีที่เป็นนิติบุคคล)
2.4 หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)
2.5 สำเนาใบมรณบัตรของผู้ประกอบพาณิชยกิจ (กรณีถึงแก่กรรม)
2.6 สำเนาหลักฐานแสดงความเป็นทายาทของทายาทผู้ลงชื่อแทนผู้ประกอบพาณิชยกิจซึ่ง
ถึงแก่กรรม

ตัวอย่างการจดทะเบียนเลิกพาณิชยกิจ

สถานที่จดทะเบียน
1. ผู้ประกอบพาณิชยกิจที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ยื่นคำขอจดทะเบียนได้ที่ สำนักงาน
ทะเบียนพาณิชย์ กรุงเทพมหานคร เว้นแต่พาณิชยกิจที่รัฐมนตรีกำหนดเป็นการเฉพาะ ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนได้ที่
ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง หรือสำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ 1-7
2. ผู้ประกอบพาณิชยกิจที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในต่างจังหวัด ยื่นคำขอจดทะเบียนได้ที่องค์การบริหาร
ส่วนจังหวัด หรือเมืองพัทยา แล้วแต่กรณี เว้นแต่พาณิชยกิจที่รัฐมนตรีกำหนดเป็นการเฉพาะ ให้ยื่นคำขอจด
ทะเบียนได้ที่สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดที่สำนักงานตั้งอยู่
3.กรณีประกอบพาณิชยกิจที่มีการพาณิชยกิจที่รัฐมนตรีกำหนดเป็นการเฉพาะรวมอยู่ด้วยให้ยื่นคำขอ
จดทะเบียนทั้งหมดได้ที่สำนักงานทะเบียนพาณิชย์กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา หรือองค์การบริหาร
ส่วนจังหวัดแล้วแต่กรณีเพียงแห่งเดียว

พาณิชยกิจที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเป็นการเฉพาะให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- ขาย ให้เช่า ผลิต หรือรับจ้างผลิต แผ่นซีดี แถบบันทึก วีดิทัศน์ แผ่นวีดิทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่นวีดิทัศน์
ระบบดิจิทัล เฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง
- ขายอัญมณี หรือเครื่องประดับซึ่งประดับด้วยอัญมณี
- ซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต บริการ
อินเตอร์เน็ตให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย บริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ
โดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครื่อข่ายอินเตอร์เน็ต
- การให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้อินเตอร์เน็ต
- การให้บริการฟังเพลงและร้องเพลงโดยคาราโอเกะ
- การให้บริการเครื่องเล่นเกมส์
- การให้บริการตู้เพลง
- โรงงานแปรสภาพ แกะสลักและการทำหัตถกรรมจากงาช้าง การค้าปลีก การค้าส่งงาช้าง และผลิตภัณฑ์
จากงาช้าง

ค่าธรรมเนียม
การขอดำเนินการตาม พ.ร.บ. ทะเบียนพาณิชย์ฯ จะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามประเภทของการดำเนินการดังต่อไปนี้
1. จดทะเบียนพาณิชย์ตั้งใหม่ 50 บาท
2. จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียน ครั้งละ 20 บาท
3. จดทะเบียนเลิกประกอบพาณิชยกิจ 20 บาท
4. ขอให้ออกใบแทนใบทะเบียนพาณิชย์ ฉบับละ 30 บาท
5. ขอตรวจเอกสารของผู้ประกอบพาณิชยกิจ ครั้งละ 20 บาท
6. ขอให้เจ้าหน้าที่คัดสำเนาและรับรองสำเนาเอกสาร ฉบับละ 30 บาท

กำหนดระยะเวลาการจดทะเบียนพาณิชย์
1. จดทะเบียนพาณิชย์ตั้งใหม่ ต้องจดทะเบียนภายใน 30 วันนับแต่วันเริ่มประกอบกิจการ
2. การเปลี่ยนแปลงรายการที่จดทะเบียนไว้ตาม (1) ต้องจดทะเบียนภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีการ
เปลี่ยนแปลง
3. เลิกประกอบกิจการ ต้องจดทะเบียนภายใน 30 วันนับแต่วันที่เลิกประกอบกิจการ
4. ใบทะเบียนพาณิชย์สูญหายต้องยื่นขอใบแทนภายใน 30 วันนับแต่วันสูญหาย


หน้าที่ของผู้ประกอบกิจการ
1. ต้องขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวข้างต้น
2. ต้องแสดงใบทะเบียนพาณิชย์หรือใบแทนใบทะเบียนพาณิชย์ไว้ ณ สำนักงานในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย
3. ต้องจัดให้มีป้ายชื่อที่ใช้ในการประกอบกิจการไว้หน้าสำนักงานแห่งใหญ่และสำนักงานสาขาโดยเปิดเผย
ภายในเวลา 30 วันนับแต่วันที่จดทะเบียนพาณิชย์ ป้ายชื่อให้เขียนเป็นอักษรไทย อ่านง่ายและชัดเจน จะมีอักษร
ต่างประเทศในป้ายชื่อด้วยก็ได้ และจะต้องตรงกับชื่อที่จดทะเบียนไว้ หากเป็นสำนักงานสาขาจะต้องมีคำว่า "สาขา"
ไว้ด้วย
4. ต้องไปให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายการจดทะเบียนตามคำสั่งของนายทะเบียน
5. ต้องอำนวยความสะดวกแก่นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งเข้าทำการตรวจสอบในสำนักงาน
ของผู้ประกอบกิจการ

บทกำหนดโทษ
1. ประกอบกิจการโดยไม่จดทะเบียน แสดงรายการเท็จ ไม่ยอมให้ถ้อยคำ ไม่ยอมให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้า
ไปตรวจสอบในสำนักงาน มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท กรณีไม่จดทะเบียนอันเป็นความผิด
ต่อเนื่อง ปรับอีกวันละไม่เกิน 100 บาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ
2. ถ้าใบทะเบียนพาณิชย์สูญหายไม่ยื่นคำร้องขอใบรับแทน หรือไม่แสดงใบทะเบียนพาณิชย์ไว้ที่สำนักงาน
ที่เห็นได้ง่าย ไม่จัดทำป้ายชื่อ มีความผิดปรับไม่เกิน 200 บาท และถ้าเป็นความผิดต่อเนื่อง ปรับอีกวันละไม่เกิน
20 บาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
3. ผู้ประกอบกิจการซึ่งกระทำการฉ้อโกงประชาชน ปนสินค้าโดยเจตนาทุจริต ปลอมสินค้า หรือกระทำการทุจริต
อื่นใดอย่างร้ายแรงในการประกอบกิจการ จะถูกถอนใบทะเบียนพาณิชย์ เมื่อถูกสั่งถอนใบทะเบียนพาณิชย์
แล้วจะประกอบกิจการต่อไปไม่ได้ เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะสั่งให้รับจดทะเบียนพาณิชย์ใหม่
4. ผู้ประกอบกิจการที่ถูกสั่งถอนใบทะเบียนพาณิชย์แล้ว ยังฝ่าฝืนประกอบกิจการต่อไป มีความผิดต้อง
ระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือทั้งปรับทั้งจำ