Tuesday, January 12, 2010

ข้อมูลบัตรทอง 30 บาท

ข้อมูลบัตรทอง

บัตรทองคืออะไร?

คือบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ออกให้แก่ประชาชนผู้มีสิทธิตามโครงการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

บริการทางการแพทย์ที่ได้รับมีอะไรบ้าง?

ผู้ถือบัตรทองจะได้รับการบริการขั้นพื้นฐานทางการแพทย์ การสาธารณสุข และการอนามัยอันจำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต ซึ่งให้โดยตรงแก่บุคคลเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมโรค
การป้องกันโรค การตรวจ การวินิจฉัย การรักษาพยาบาล การป้องกันความพิการ และการฟื้นฟูสมรรถภาพ และการอื่นใดเพื่อสร้างเสริมสุขภาพที่หน่วยบริการจัดขึ้น โดยไปรับบริการได้ที่สถานีอนามัย ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งและโรงพยาบาลเอกชน
ที่เข้าร่วมโครงการ

ใครคือผู้มีสิทธิได้รับบัตรทอง?

ผู้มีสิทธิได้รับบัตรทองคือ ประชาชนคนไทยทุกคนที่ยังไม่มีสิทธิใดๆ จากหลักประกันอื่น
ยกเว้น
1. ผู้ มีสิทธิตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เช่น ลูกจ้างที่ทำงานในกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ยกเว้น ลูกจ้างทำงานบ้าน หาบเร่ แผงลอย
หรือลูกจ้างของบุคคลธรรมดาที่ไม่มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย
2. ผู้มีสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล
เช่น ข้าราชการ ลูกจ้างประจำของส่วนราชการ และครอบครัว
3. ผู้อยู่ในความคุ้มครองของหลักประกันสุขภาพอื่นที่รัฐจัดให้
เช่น พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ในองค์กรอิสระ

ขอบัตรทองได้ที่ไหน?

ต่างจังหวัด ขึ้นทะเบียนได้ที่สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลของรัฐที่อยู่ใกล้บ้าน
กรุงเทพมหานคร ขึ้นทะเบียนได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครที่อยู่ใกล้บ้าน หรือสถานที่ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด

ใช้หลักฐานอะไรบ้าง?
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวที่มีรูปถ่ายซึ่งทางราชการออกให้
    (เด็กต่ำกว่า 15 ปี ใช้สำเนาใบสูติบัตร หรือใบเกิด)
  • สำเนาทะเบียนบ้านที่ผู้ขอมีชื่ออยู่
  • กรณีพักอาศัยอยู่จริงไม่ตรงตามทะเบียนบ้านให้เพิ่มเติมสำเนาทะเบียนบ้านที่ไปพักอาศัย
    ซึ่งมีลายมือชื่อเจ้าของบ้าน หรือหนังสือรับรองของผู้นำชุมชนรับรองว่าได้พักอาศัยอยู่จริง
    หรือรับรองตนเองพร้อมแสดงหลักฐานอื่นประกอบ เช่น ใบเสร็จค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์
    ที่มีชื่อตนเองเป็นต้น
เมื่อเจ็บป่วยจะต้องทำอย่างไร?
  • เข้ารับการรักษา ณ สถานพยาบาล หรือโรงพยาบาลที่ระบุในบัตรทอง
  • แสดงความจำนงเพื่อขอใช้สิทธิทุกครั้ง
  • แสดงบัตรทอง พร้อมบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวที่มีรูปถ่าย ซึ่งทางราชการออกให้ (เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ใช้สำเนาสูติบัตร หรือใบเกิด)
  • ควรไปรักษาในเวลาทำการ หรือเวลาที่สถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลกำหนด
ได้รับอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินทำอย่างไร?
  • เข้ารับการรักษาได้ที่สถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง หรือโรงพยาบาลของรัฐ และเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ
  • กรณีฉุกเฉินไปรักษาโรงพยาบาลอื่นที่ไม่ได้ระบุในบัตรทองได้ไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี
บริการที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย

1. การตรวจและการดูแลเพื่อส่งเสริมสุขภาพหญิงตั้งครรภ์
2. การดูแลสุขภาพเด็ก พัฒนาการและภาวะโภชนาการของเด็ก รวมถึงการให้ภูมิคุ้มกันโรค
ของประเทศ
3. การตรวจสุขภาพประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยง
4. การวางแผนครอบครัว
5. ยาต้านไวรัสเอดส์ กรณีการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากแม่ที่กำลังตั้งครรภ์สู่ลูก
6. การเยี่ยมบ้าน และการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน
7. การให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ผู้รับบริการในระดับบุคคลและครอบครัว
8. การให้คำปรึกษา และการสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพ
9. การส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคในช่องปาก ได้แก่การตรวจสุขภาพช่องปาก
การแนะนำด้านทันตสุขภาพ การให้ฟลูออไรด์เสริมในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคฟันผุ
เช่น กลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยฉายรังสีบริเวณศีรษะ และลำคอ
รวมทั้งการเคลือบหลุมร่องฟัน

บริการที่ต้องร่วมจ่าย 30 บาท

1. การตรวจ การวินิจฉัย การรักษา และการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์จนสิ้นสุดการรักษา
รวมถึงการแพทย์ทางเลือกที่ผ่านการรับรองของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
2. การคลอดบุตร รวมกันไม่เกิน 2 ครั้งนับตั้งแต่ใช้สิทธิในโครงการสร้างหลักประกันสุขภาพ
ถ้วนหน้า
3. ค่าอาหาร และค่าห้องสามัญ
4. การถอนฟัน การอุดฟัน การขูดหินปูน การทำฟันปลอมฐานพลาสติก
การรักษาโพรงประสาทฟันน้ำนม และการใส่เพดานเทียมในเด็กปากแหว่งเพดานโหว่
5. ยาและเวชภัณฑ์ตามกรอบบัญชียาหลักแห่งชาติ
6. การจัดส่งต่อเพื่อการรักษาระหว่างหน่วยบริการ

บริการที่ไม่คุ้มครอง

1. โรคจิตที่ต้องรับไว้รักษาเป็นผู้ป่วยในเกินกว่า 15 วัน (เนื่องจากมีงบประมาณเฉพาะ)
2. การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด
(เนื่องจากมีงบประมาณเฉพาะ)
3. อุบัติเหตุการประสบภัยจากรถ และอยู่ในความคุ้มครองตามกฎหมาย
ว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เฉพาะส่วนที่บริษัทหรือกองทุนตามกฎหมายนั้น
ต้องเป็นผู้จ่าย
4. การรักษาภาวะมีบุตรยาก
5. การผสมเทียม
6. การกระทำใด ๆ เพื่อความสวยงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
7. การตรวจวินิจฉัยและรักษาใด ๆ ที่เกินความจำเป็นจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
8. โรคเดียวกันที่ต้องใช้ระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลประเภทผู้ป่วยใน
เกินกว่า 180 วัน ยกเว้นกรณีมีความจำเป็นต้องรักษาต่อเนื่องจากภาวะแทรกซ้อน
หรือมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
9. การรักษาที่อยู่ระหว่างการค้นคว้าทดลอง
10. การรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายด้วยการล้างไต
และการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
11. ยาต้านไวรัสเอดส์
ยกเว้นกรณีการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากแม่ที่กำลังตั้งครรภ์สู่ลูก
12. การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรฯ 1330

บัตรทองเป็นสิทธิของท่าน การลงทะเบียนรับบัตรทองจะทำให้ท่านได้รับความสะดวกยามเจ็บป่วย

หรือ

สถานีอนามัยตำบลสำโรง โทร. 02-3612352